ยาน็อคและยาดูดซึมคืออะไร - ICPLADDA

ยาน็อคและยาดูดซึมคืออะไร

32199 จำนวนผู้เข้าชม

ยาน็อค ยาดูดซึม ใช้อย่างไร
    ยาน็อค และยาดูดซึม เคยใช้คำนี้ในการสอบถามร้านค้าเคมีเกษตร หรือร้านค้าเคมีเกษตรต้องเคยมีเกษตรกรมาสอบถามกันอย่างแน่นอน ไอซีพี ลัดดา จึงได้นำข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของคำว่า ยาน็อค และยาดูดซึม มาอธิบายให้ฟังโดยอ้างอิงมาจากหนังสือ “รู้ลึกเรื่อง สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและไรศัตรูพืช ของท่านอาจารย์สุเทพ สหายา”
B 30-4-22 ยาน็อค และ ยาดูดซึม คืออะไร และเลือกใช้อย่างไร 1200x1200 Sub-1
สารกำจัดแมลงและไรศัตรูพืช สามารรถแบ่งตามการเข้าทำลายของสารได้ดังนี้
  1. สารประเภทกินตาย (Stomach poison) พ่นสารติดใบพืชแมลงมากัดกินแล้วทำให้แมลงตาย เช่น เชื้อบีที เชื้อไวรัส เอ็น พี วี การใช้เหยื่อพิษกับหนู หรือสารเคมีในกลุ่มคาร์บาเมต ออร์กาโนฟอสเฟต ไพรีทรอยด์ รวมทั้งสารสังเคราะห์กลุ่มใหม่ๆ อีกหลายชนิด
  2. สารประเภทสัมผัสหรือถูกตัวตาย (Contact poison) ซึมผ่านทางผิวหนัง ผนังลำตัว หรือเข้าทางท่อหายใจของแมลง ในผนังลำตัวของแมลงจะมีหลายชั้น ชั้นนอกสุด(Epicuticle) จะเป็นส่วนที่สารกำจัดแมลงจะซึมผ่านได้ ส่วนชั้นถัดมาจะเป็นชั้นกลาง (Exocuticle) จะเป็นส่วนที่แข็ง (Sclerotize) ทนทานต่อการแทรกซึมของสารกำจัดแมลงอย่างไรก็ตาม สารจะซึมผ่านได้บริเวณข้อต่อ (Integuments) ส่วนชั้นในสุด(Endocuticle) จะประกอบด้วยโปรตีนและไคติน ซึ่งเป็นส่วนที่ป้องกันการเข้าทำลายของสารกำจัดแมลง ส่วนที่เป็นจุดอ่อนของแมลงคือบริเวณข้อต่อไม่ว่าจะเป็น ส่วนหัว ส่วนอก ส่วนปาก ส่วนท้อง หรือหนวด ล้วนมีส่วนข้อต่อซึ่งมีเนื้อเยื่อหุ้มที่บางกว่าส่วนอื่น ทำให้สารกำจัดแมลงซึมเข้าได้ง่ายกว่าจุดอื่น นอกจากนี้การซึมผ่านของสารฆ่าแมลงอาจเข้าได้ทางท่อหายใจ (Trachea) ตัวอย่างสารประเภทถูกตัวตายเช่น สารประเภทไพรีทรัม นิโคตินจากใบยาสูบ เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมทาไรเซียม ไวท์ออย ปิโตรเลียมออย สารกลุ่มที่ 3 ไพรีทรอยด์ อาทิ ไซเพอร์เมทริน อัลฟ่าไซเพอร์เมทริน เบตาไซเพอร์เมทริน เบตาไซฟลูทริน แลมบ์ดาไซฮาโลทริน เดลทาเมทริน ไบเฟนทริน สารกลุ่ม 10 เฮกซี่ไทอะซอก อีโทซาโซล สารกลุ่ม 12 โพรพาไกต์ เตตระไดฟอน กลุ่ม 15 ไดฟลูเบนซูรอน โนวาลูรอน คลอร์ฟลูอะซูรอน สารเหล่านี้จะเน้นพ่นให้ถูกตัวศัตรูพืชโดยตรงจึงจะได้ผล แต่จะมีสารบางชนิดที่ตกค้างที่ใบพืช แมลงมากัดกินภายหลังจนได้รับพิษเพียงพอจึงจะตาย ส่วนมากจะเป็นแมลงขนาดเล็ก ถ้าแมลงมีขนาดใหญ่อาจจะไม่ได้ผล ทำให้มีคุณสมบัติทั้ง 2 แบบ คือสัมผัส และกินตาย ทำให้สารประเภทกินตาย และประเภทสัมผัสหรือถูกตัวตาย เมื่อพ่นไปจะทำให้แมลงเกิดอาการชักดิ้น ชักงอ และตายภายในไม่กี่นาทีหลังกินหรือสัมผัสสาร จึงเหมือนเป็นการน็อคแมลงนั้นเอง
  3.  สารรม (Fumigant) ใช้กำจัดศัตรูพืชในรูปของก๊าซ เข้าทางรูหายใจของแมลง เช่น เมทิลโบรไมด์(methyl bromide), ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (HCN), คลอโรพิกริน (chloropicrin)
ยาดูดซึม คืออะไร
  1. สารประเภทดูดซึม (Systemic poison) สารเคมีที่มีคุณสมบัติดูดซึม จะแตกต่างจากสารที่มีคุณสมบัติแบบสัมผัสหรือถูกตัวตาย คือสารจะมีการเคลื่อนย้ายภายในเนื้อเยื่อพืชได้ หลักการของสารประเภทดูดซึมคือหลังจากไปอยู่ในเนื้อเยื่อพืชแล้ว แมลงมากินภายหลังก็จะทำให้แมลงตาย ปัจจุบันแยกระดับการดูดซึมเป็น 4 ระดับ ได้แก่
  2. ดูดซึมได้เล็กน้อย (Locally Systemic หรือ Localized Penetrant ) สารจะมีการเคลื่อนที่ซึมเข้าไปเฉพาะด้านที่สัมผัสเพียงเล็กน้อยแต่ไม่ทะลุผ่านใบเมื่อแมลงมาดูดกินอีกด้านฝั่งตรงข้ามแมลงจะไม่ตาย  ตัวอย่างเช่น สารในกลุ่มไพรีทรอยด์
  3. ดูดซึมทะลุผ่านใบ (Translaminar effects) หรืออาจเรียกว่าสารแบบกึ่งดูดซึม (Semi-systemic) สารจะเคลื่อนที่ผ่านใบด้านที่สัมผัสสารและซึมผ่านไปยังผิวใบที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่จะไม่มีการกระจายตัวออกนอกใบที่สัมผัสไปสู่ใบอื่น ตัวอย่างเช่น พ่นด้านบนใบแล้วสารเคมีซึมผ่านไปฆ่าแมลงที่ดูดกินใต้ใบ ได้แก่ สารกลุ่ม 1 ออร์กาโนฟอสเฟต เช่น คลอร์ไพริฟอส โพรฟีโนฟอส ไตรอะโซฟอส พิริมิฟอสเมทิล อีไทออน กลุ่มคาร์บาเมต เช่น คาร์บาริล ไทโอไดคาร์บ สารกลุ่ม 2 อีทิโพรล สารกลุ่ม 5 สไปนีโทแรม สารกลุ่ม 6 อะบาเมกติน สารกลุ่ม 9 ไพมีโทรซีน กลุ่ม 13 คลอร์ฟีนาเพอร์
  4. ดูดซึมผ่านท่อน้ำ (Xylem Mobile) สารจะถูกเคลื่อนย้ายได้ภายในต้นพืช โดยเข้าสู่ระบบท่อน้ำแล้วลำเลียงไปสู่เนื้อเยื่อพืช เช่น ใบ ดอก ลำต้น ละอองเกสร แต่จะไม่เข้าไปที่ผล(อ่านรายละเอียดตอนท้าย) จึงเหมาะสมที่จะใช้ในรูปแบบคลุกเมล็ด (seed treatments), รองก้นหลุม(soil treatments), ราดสารบนดินหรือโคนต้น(soil drench) หรือ แช่กระบะเพาะกล้า (seedling tray) นอกจากนี้ยังสามารถใช้สารที่มีคุณสมบัตินี้ปรับใช้ เช่น ผสมน้ำแช่ท่อนพันธุ์หรือหน่อพันธุ์ หรือการใช้สารแบบเข้มข้นฉีดเข้าต้น (Trunk injection) สารที่มีคุณบัติดูดซึมถ้าใช้ผสมน้ำพ่นทางใบ (Foliage spray) จะมีคุณสมบัติดูดซึมทะลุผ่านใบได้ดี ตัวอย่างสารเคมีที่มีคุณสมบัติดูดซึมผ่านท่อน้ำ (Xylem Mobile) สารกลุ่ม 1กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตบางชนิด ได้แก่ ไดเมโทเอต ไตรคลอร์ฟอน ไดอะซินอน กลุ่มคาร์บาเมท เช่น คาร์โบฟูแรน คาร์โบซัลแฟน สารกลุ่ม 2 ฟิโพรนิล (จำกัดดูดซึมเฉพาะพืชใบเลี้ยงเดี่ยว)สารกลุ่ม 4 สารในกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ทั้งหมดเป็นสารที่มีคุณสมบัติดูดซึมได้ดี เช่น อิมิดาโคลพริด อะซีทามิพริด ไทอะโคลพริด ไทอะมีทอกแซม โคลไทอะนิดิน ไดโนทีฟูแรน และซัลฟอกซาฟลอร์ สารกลุ่ม 6 อีมาเมกตินเบนโซเอต (ใช้วิธีฉีดเข้าต้น)สารกลุ่ม 14 คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์(จำกัดดูดซึมเฉพาะพืชใบเลี้ยงเดี่ยว)สารกลุ่ม 15 ลูเฟนนูรอนสารกลุ่ม 28 คลอแรนทรานิลิโพรล ไซแอนทรานิลิโพรล
  5. ดูดซึมผ่านท่อน้ำและท่ออาหาร (Amphimobile หรือ truly systemic) สารเคมีจะมีคุณสมบัติที่เคลื่อนย้ายได้ 2 ทาง คือจากล่างขึ้นด้านบนหรือไปตามท่อน้ำ และสามารถย้อนกลับลงมาจากบนลงล่างมาทางท่ออาหารได้ ปัจจุบันมีสารเคมีที่มีคุณสมบัตินี้น้อยมาก ปัจจุบันที่มีรายงานสารกำจัดแมลงและไรมีเพียงชนิดเดียวคือ กลุ่ม 23 สไปโรเตตระแมต โดยสารชนิดนี้จะไม่มีคุณสมบัติแบบสัมผัสหรือถูกตัวตาย แต่จะมีคุณสมบัติแบบกินตาย หลังจากพ่นสารไปแล้ว 2 – 3 วันสารจึงจะถูกเคลื่อนย้ายไปตามท่อน้ำท่ออาหาร แมลงระยะตัวอ่อนมากัดหรือดูดกินจะทำให้แมลงไม่สามารถสร้างไขมันได้ทำให้ไม่เจริญเติบโต อ่อนแอและตายไปในที่สุด แต่จะมีผลน้อยมากกับตัวเต็มวัยหรือตัวแก่ เนื่องจากความเข้มข้นที่ได้รับสารมีน้อยไม่เพียงพอที่จะทำให้ถึงตาย ดังนั้นประสิทธิภาพของสารชนิดนี้จึงมุ่งไปที่ลดจำนวนตัวอ่อน  ชนิดแมลงที่สารชนิดนี้ป้องกันกำจัดได้ ได้แก่ เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ (บางชนิด) ไรแดง เป็นต้น
เลือกใช้ยาน็อค และ ยาดูดซึม อย่างไร
การเลือกใช้ ยาน็อค หรือ ยาดูดซึม ให้ดูที่แมลงศัตรูพืชเป็นหลัก เช่น หากเป็นแมลงที่เคลื่อนที่ได้เร็วหรือบินได้พวกแม่ผีเสื้อชนิดต่างๆ แมลงหวี่ขาว การใช้ยาน็อค กลุ่มคาร์บาเมต ออร์กาโนฟอสเฟต และไพรีทรอยด์ จะกำจัดได้มีประสิทธิภาพดีและลดการทำลายได้อย่างรวดเร็ว ส่วนแมลงศัตรูพืชพวกแมลงปากดูด ปากกัดที่เคลื่อนย้ายได้น้อย การใช้ยาดูดซึมก็จะมีประสิทธิภาพในการกำจัดและลดความเสียหายได้ดีกว่าใช้ยาน็อค ยกตัวอย่างสารเคมีในกลุ่ม 2 กลุ่ม 4 กลุ่ม 6 กลุ่ม 9 กลุ่ม 14 และกลุ่ม 23 เป็นต้น
””

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า