5776 จำนวนผู้เข้าชม
โรคใบขีดโปร่งแสง
ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
โรคใบขีดโปร่งแสง (bacterial leaf streak) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียXanthomonas oryzae pv. oryzicola ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มการระบาดของโรคนี้เพิ่มมากขึ้น พบมีการระบาดของโรคนี้ในข้าวพันธุ์ต่างๆ เช่น กข41 พิษณุโลก 2 และ ปทุมธานี 1 เป็นต้น ซึ่งโดยปกติจะพบโรคใบขีดโปร่งแสงบ้างแต่ไม่รุนแรง เกษตรกรที่พบโรคนี้ระบาดในแปลงหลีกเลี่ยงการนำเมล็ดมาใช้ทำพันธุ์ต่อเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
โรคใบขีดโปร่งแสงเป็นโรคที่มักพบช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมในการระบาดของโรค เช่น มีพายุฝน ความชื้นสูง และลมพัดแรง เป็นต้น โรคนี้ก่อให้เกิดอาการที่ใบเป็นหลัก เริ่มแรกพบแผลขีดช้ำฉ่ำน้ำยาวไปตามเส้นใบ สามารถสังเกตเห็นได้ทางด้านใต้ใบชัดเจนกว่าบนใบ เมื่อนำใบส่องกับแสงแดดจะเห็นรอยแผลขีดนั้นโปร่งแสงแล้วต่อมาแผลขีดจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือส้ม และเมื่อแผลมีจำนวนมากจะขยายรวมกันเป็นแผลใหญ่ ส่วนความยาวของแผลขึ้นอยู่กับความพันธุ์ข้าวความรุนแรงของเชื้อ และสภาพแวดล้อม ในพันธุ์ที่ไม่ต้านทาน แผลจะมีความยาวขยายไปถึงส่วนของกาบใบ โดยลักษณะแผลจะคล้ายคลึงกับที่เกิดบนใบ ส่วนในพันธุ์ที่ต้านทานจำนวนแผลมีจำนวนน้อยและแผลเป็นขีดสั้นกว่าพันธุ์อ่อนแอและรอบๆแผลจะมีสีน้ำตาลดำ โดยข้าวที่อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้งมักจะอ่อนแอต่อโรคใบขีดโปร่งแสงเช่นกัน ได้แก่ พันธุ์พิษณุโลก 2 ขาวดอกมะลิ 105 ชัยนาท 1 กข41 กข47 และ กข49 เป็นต้น
ข้าวที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะพบการเข้าทำลายของหนอนกระทู้ หนอนม้วนใบ หรือแมลงดำหนามร่วมด้วยในสภาพที่มีฝนตกต่อเนื่อง ลมพัดแรงจะทำให้โรคแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว และถ้าสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อเชื้อโรค
แนวทางการป้องกันและแก้ไข
- ไม่ควรใช้เมล็ดพันธุ์จากแปลงที่มีการระบาดของโรค
- ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนมากเกินความจำเป็นในข้าวที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วหรือในแปลงปลูกมีธาตุอาหารเหลืออยู่จากการปลูกพืชก่อนหน้า ซึ่งในบางแปลงอาจไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมเลยเมื่อปลูกข้าว โดยเกษตรกรสามารถสังเกตความอุดมสมบูรณ์ของข้าวได้จากเทียบสีของใบข้าวกับแผ่นเทียบสีใบข้าว(Leaf Color Chart: LCC)
- ไม่ควรปลูกข้าวแบบนาหว่านที่ใช้เมล็ดพันธุ์มากเกิน จะทำให้เกิดการระบาดของโรคได้รุนแรงมากกว่าการปลูกข้าวแบบนาดำ และอาจพบปัญหาข้าวล้มในช่วงออกรวงซึ่งพบเห็นได้มากในช่วงที่มีลมมรสุม จะทำให้อาการโรครุนแรงมากขึ้น
- พ่นสารป้องกันกำจัดโรค เช่น สารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ คิวปรัสออกไซด์ ไตรเบซิคคอปเปอร์แต่ห้ามใช้สารเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพราะจะทำให้เชื้อเกิดความต้านทานได้และการควบคุมระดับน้ำในแปลงให้เหมาะสมไม่ให้มีปริมาณมากเกินความจำเป็น
- เกษตรกรควรปฏิบัติตามแนวทางในการป้องกันโรคข้างต้นนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพสูงสุด