โรคใบขีดสีน้ำตาล - ICPLADDA

โรคใบขีดสีน้ำตาล

6319 จำนวนผู้เข้าชม

ผศ.ดร.อุดมศักดิ์  เลิศสุชาตวนิช
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
 
        โรคใบขีดสีน้ำตาล (Narrow Brown Spot Disease) เป็นโรคข้าวที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ปลูกข้าว  อาจเรียกว่าโรคนี้เป็นโรคประจำตัวของข้าวก็ว่าได้  โดยโรคจะพบมากในพื้นที่นาชลประทาน  ปกติแล้วโรคนี้ไม่พบเป็นปัญหามากถ้าเกษตรกรมีการจัดการแปลงที่เหมาะสม  เช่น ไม่ปลูกข้าวโดยใช้เมล็ดพันธุ์ปริมาณมากเกิน  ไม่ใช้ปุ๋ยยูเรียมากเกินความจำเป็น และไม่ขังน้ำไว้ในแปลงมากเกินความจำเป็น เป็นต้น  แต่ถ้าปล่อยให้เกิดโรครุนแรงมีรายงานว่าโรคนี้สามารถทำให้ผลผลิตเสียหายได้ถึง 40% เป็นเพราะว่าเมื่อข้าวเป็นโรคใบขีดสีน้ำตาลรุนแรงในระยะข้าวออกรวงจะทำให้เกิดโรคเมล็ดด่างตามมาและทำให้ผลผลิตเสียหาย  โรคนี้จะเข้าทำลายและแสดงอาการให้เห็นได้ชัดเจนในข้าวระยะหลังการแตกกอเต็มที่แล้ว  แต่ส่วนมากพบโรครุนแรงช่วงระยะข้าวออกรวง ซึ่งจะพบโรคในใบธงถ้าเกษตรกรสังเกตเห็นโรคมีความรุนแรงโรคมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ใบธงในระยะข้าวออกรวง  ควรรีบทำการพ่นสารป้องกันกำจัดโรค เพื่อป้องกันการเกิดโรคเมล็ดด่างและลดความเสียหายของผลผลิตข้าว
 
สาเหตุโรค
 เกิดจากเชื้อรา Cercospora oryzae I. Miyake
 
อาการ
โรคจะทำให้เกิดแผลสีน้ำตาลที่ใบมีลักษณะเป็นขีดๆ ขนานกับเส้นใบข้าว  แผลมีความยาวประมาณ 2-10 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ในพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคจะแสดงอาการเป็นแผลขีดสั้นๆ สีน้ำตาลเข้ม  ส่วนพันธุ์ที่อ่อนแอแผลจะกว้างมีขีดยาวกว่าและมีสีน้ำตาลอ่อน  ใบที่เป็นโรครุนแรงจะทำให้ใบแห้งตายได้ เชื้อนี้สามารถเข้าทำลายคอรวง ทำให้คอรวงเน่าและหักพับได้ จะพบอาการของโรคมากในระยะตั้งแต่ข้าวแตกกอเต็มที่เป็นต้นไป

 

 
 
การแพร่ระบาด
   เชื้อสาเหตุโรคสร้างสปอร์แพร่ระบาดไปกับลม  และสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์

 

การป้องกันกำจัด
  เกษตรกรควรทำการพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันและกำจัดโรคใบขีดสีน้ำตาล ในช่วงที่ระยะข้าวเริ่มตั้งท้องและระยะออกรวง ด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดโรค เช่น สารโพรพิโคนาโซล, โพรพิโคนาโซล+ไดฟีโนโคนาโซล, อะซ็อกซีสโตรบิน+ไดฟีโนโคนาโซล เป็นต้น
 
แนวทางการแก้ปัญหา
  • เกษตรกรไม่ควรปลูกข้าวโดยใช้เมล็ดพันธุ์ปริมาณมากเกิน รวมทั้งควรไม่ควรใช้ปุ๋ยยูเรียมากเกินความจำเป็น
  • มีรายงานการใช้ปุ๋ยโปแตสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อัตรา 5-10 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
 
เอกสารอ้างอิง
  • http://www.brrd.in.th/rkb/
  • Ou, S.H. (1972) Rice Diseases, CAB International Mycological, Institute Kew, Survey, UK.
 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า