7 โรคพืชผักที่เกิดเชื้อแบคทีเรีย - ICPLADDA

7 โรคพืชผักที่เกิดเชื้อแบคทีเรีย

4021 จำนวนผู้เข้าชม

ฤดูฝนนี้เป็นฤดูกาลที่โรคพืชหลายชนิดแพร่ระบาด
7 โรคพืชผักที่เกิดเชื้อแบคทีเรีย
   ฤดูฝนนี้เป็นฤดูกาลที่โรคพืชหลายชนิดแพร่ระบาดได้ดีโดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่ชอบสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง และน้ำฝนจะช่วยทำให้โรคแพร่กระจายได้ดี พืชผักจัดเป็นพืชอีกกลุ่มที่เป็นโรคที่เกิดเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ดังต่อไปนี้
1. โรคเน่าเละของพืชผัก (Bacterial soft rot)
สาเหตุของโรค
เชื้อแบคทีเรีย  Pectobacterium carotovorum subsp. carotovorum
อาการของโรค
เริ่มต้นพืชจะแสดงอาการฉ่ำน้ำ ต่อมาแผลฉ่ำน้ำจะเน่าเละยุบตัวลุกลามขยายเป็นบริเวณกว้าง  มีเมือกเยิ้ม  ส่งกลิ่นเหม็น  อาการของโรคจะพัฒนาอย่างรวดเร็วในสภาพอากาศร้อนจัดและมีฝนชุก  โรคนี้นอกจากสร้างความเสียหายในแปลงปลูกแล้ว  ยังทำให้พืชผักเสียหายระหว่างการขนส่ง และรอจำหน่ายเป็นจำนวนมาก
การจัดการโรค
  • ไถพลิกกลับดินตากแดด เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคในดิน
  • การอบดินฆ่าเชื้อโรคด้วยยูเรียกับปูนขาวในอัตรา 80 กก. : 800 กก. ต่อไร่ เป็นเวลา 7-10 วันก่อนปลูกพืช
  • ทำการควบคุมแมลงศัตรูพืชผักต่างๆ  โดยเฉพาะหนอนหรือแมลงปากกัดในแปลงปลูก
โรคเน่าเละของพืชผัก (Bacterial soft rot)
2. โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ (Bacterial wilt)
สาเหตุของโรค
เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum
อาการของโรค
ต้นมะเขือเทศมีอาการเหี่ยวลู่ลงมาทั้งต้นในขณะที่ใบยังมีสีเขียว ท่อน้ำท่อลำเลียงจะ๔กทำลายเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เมื่ออาการรุนแรงจะทำให้ตายในที่สุด เมื่อนำต้นที่มีอาการเหี่ยวมาตัดตามขวางจะมีของเหลวสีขาวขุ่น (bacterial ooze) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียไหลออกมาจากรอยตัด  การแพร่ระบาด  เชื้ออาศัยอยู่ดินและติดไปกับส่วนขยายพันธุ์พืชต่างๆ โดยเฉพาะส่วนขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เช่น ท่อนพันธุ์ หัว แง่ง หรือ หน่อ เป็นต้น  เข้าทำลายพืชได้ดีผ่านทางบาดแผลบริเวณระบบราก พบมีความสัมพันธ์กับการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปม (root knot nematode) โดยถ้ามีการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปมจะทำให้มีการเป็นโรคเหี่ยวรุนแรงมากขึ้น
การจัดการโรค
  • ไถพลิกกลับดินตากแดดหลายๆ ครั้งเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อในดิน เตรียมดินให้มีการระบายน้ำได้ดี
  • การอบดินฆ่าเชื้อด้วยการใช้ยูเรียกับปูนขาว อัตรา 80 กก. :800 กก.ต่อไร่  เป็นเวลา 7-10 วันก่อนปลูกพืช
  • การคควบคุมแมลงศัตรูพืชและไส้เดือนฝอยรากปมในแปลงปลูก
  • การปลูกพืชหมุนเวียน
โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ (Bacterial wilt)
3. โรคขอบใบทองหรือเน่าดำของพืชตระกูลกะหล่ำ (Bacterial leaf blight หรือ Black rot)
สาเหตุของโรค
เชื้อแบคทีเรีย  Xanthomonas campestris pv. campestris
อาการของโรค
ที่ใบจะมีอาการเหลืองจากขอบใบแล้วลามเข้ามาในใบเป็นรูปตัววี (V shape)  เส้นใบบริเวณนี้จะมีสีน้ำตาลดำ  ต่อมาบริเวณที่เป็นโรคเนื้อเยื่อจะแห้งตาย  เมื่อตัดลำต้นตามขวางจะพบว่าส่วนที่เป็นท่อน้ำ  (xylem) มีสีดำ  การแพร่ระบาดเชื้อโรคสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ (seed borne) ซึ่งต้นกล้าที่เป็นโรคจะแพร่ไปยังต้นกล้าอื่นในแปลงเพาะกล้า แล้วแพร่กระจายโดยน้ำฝน  หรือระบบน้ำ
การจัดการโรค
  • เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ปลอดโรค
  • การปลูกพืชหมุนเวียน
3. โรคขอบใบทองหรือเน่าดำของพืชตระกูลกะหล่ำ (Bacterial leaf blight หรือ Black rot)
4. โรคใบจุด หรือผลจุดของมะเขือเทศ (Bacterial spot)
สาเหตุของโรค
เชื้อแบคทีเรีย  Xanthomonas euvesicatoria หรือ X. perforans
อาการของโรค
มะเขือเทศจะแสดงอาการใบจุดเล็กๆ รูปร่างไม่แน่นอนสีน้ำตาลอ่อนต่อมาจะกลายเป็นสีน้ำตาลดำ จนถึงดำแผลอาจมีการขยายใหญ่ขึ้น เมื่อเป็นโรครุนแรงมากใบจะร่วง  อาจพบลักษณะอาการจุดแผลบนลำต้นเป็นสะเก็ดสีน้ำตาลดำ  และที่ผลมะเขือเทศจะมีอาการเป็นจุดสะเก็ดสีน้ำตาลดำถึงดำมีขนาด 2-8 มม. การแพร่ระบาด เชื้อติดไปกับเมล็ดพันธุ์ (seed borne) และแพร่กระจายโดยน้ำฝน หรือระบบน้ำ
การจัดการโรค
  • ใช้เมล็ดพันธุ์ปลอดโรค หรือพันธุ์พืชต้านทานโรค
  • ทำความสะอาดแปลงปลูกเพื่อกำจัดเศษซากพืชเป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก
  • การป้องกันกำจัดด้วยสารป้องกันกำจัดโรค เช่น copper hydroxide เป็นต้น
4. โรคใบจุด หรือผลจุดของมะเขือเทศ (Bacterial spot)
5. โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม (Bacterial canker)
สาเหตุของโรค
เชื้อแบคทีเรีย  Xanthomonas citri subsp. citri 
อาการของโรค
อาการโรคส่วนมากเกิดกับใบอ่อน  โดยระยะเริ่มต้นเกิดแผลจุดฉ่ำน้ำขนาด 1-3 มม. ต่อมาจุดขยายใหญ่ขึ้นนูนฟูสีเหลืองอ่อน  แผลเกิดได้บนใบทั้งสองด้าน  ต่อมาแผลนูนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มและยุบลง  กลายเป็นเป็นสะเก็ดแข็งและผิวขรุขระมีสีเหลืองล้อมรอบแผล  ขนาดของแผลจะแตกต่างกันไปตามชนิดพืชตระกูลส้ม  และสภาพแวดล้อม  อาการสามารถเกิดกับส่วนต่างๆ ได้แก่ กิ่ง ลำต้น และผล   การแพร่ระบาด เชื้อสามารถแพร่กระจายไปกับลมฝน หรือการให้น้ำ โดยแหล่งของเชื้อตั้งต้นจะมาจากแผลเก่าบน ใบ กิ่ง หรือลำต้น   เชื้อเข้าสู่พืชทางช่องเปิดธรรมชาติของพืช  เช่น  ปากใบ  หรือเข้าทำลายทางบาดแผลซึ่งเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น  แผลเนื่องจากหนามเกี่ยวใบ  หรือแผลจากการทำลายของหนอนชอนใบส้ม เป็นต้น
การจัดการโรค
  • ใช้ส่วนขยายพันธุ์หรือกิ่งพันธุ์ที่ไม่มีโรคมาปลูก  โดยเฉพาะในแหล่งปลูกใหม่
  • ทำการตัดแต่งกิ่งและส่วนที่เป็นโรคที่ใบ กิ่ง และลำต้น ทิ้ง
  • ทำการให้บังคับการแตกใบอ่อนออกเป็นรุ่นเดียวกัน เพื่อจะทำให้การฉีดสารป้องกันกำจัดโรคมีประสิทธิภาพ
  • ปลูกพืชเป็นแนวกันลมรอบสวน  เพื่อลดการเกิดแผลซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อเข้าทำลาย
  • การควบคุมแมลงศัตรูโดยเฉพาะหนอนชอนใบ  ซึ่งจะทำให้เกิดบาดแผลในช่วงใบอ่อน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
  • การใช้สารป้องกันกำจัดโรค เช่น copper oxychloride copper hydroxide หรือ bordeaux mixture พ่นช่วงที่แตกใบอ่อน 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรค
7 โรคพืชผักที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย-06
6. โรคใบจุดนูนของถั่วเหลือง (Bacterial pustule)
สาเหตุของโรค
เชื้อแบคทีเรีย  Xanthomonas axonopodis pv. glycines
อาการของโรค
ที่ใบเกิดแผลมีลักษณะตุ่มนูนสีเขียวอ่อนขนาดประมาณ 1 มม.  ต่อมาตุ่มจะแห้งและยุบตัวลง  เปลี่ยนเป็นแผลจุดสีน้ำตาลมีขอบสีเหลืองล้อมรอบจุดแผลซึ่งจะเห็นชัดเจนด้านบนใบ  แผลสามารถขยายลุกลามถึงกันทำให้เกิดอาการคล้ายใบไหม้  ถ้าอาการรุนแรงมากจะทำให้ใบร่วง  นอกจากจะเกิดอาการกับใบแล้วอาจจะพบแผลจุดสีน้ำตาลที่ส่วนของลำต้น  ก้านใบหรือฝักได้  การแพร่ระบาด  เชื้อสามารถแพร่กระจายโดยอาศัยลม  ฝน  หรือระบบน้ำ
การจัดการโรค
  • ใช้พันธุ์ถั่วเหลืองที่ต้านทานโรค เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่มาจากแหล่งที่ไม่เคยมีโรคระบาด
  • กำจัดเศษซากพืช และวัชพืชบริเวณแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยอยู่ข้ามฤดูของเชื้อ
  • คลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรค เช่น thiram เป็นต้น
โรคใบจุดนูนของถั่วเหลือง (Bacterial pustule)
7. โรคต้นเน่าของข้าวโพด (Bacterial stalk rot)
สาเหตุของโรค
เชื้อแบคทีเรีย Dickeya zeae
อาการของโรค
อาการส่วนมากเกิดบริเวณโคนต้น มีอาการเน่าหรือลำต้นเน่าฉ่ำน้ำ รอยช้ำมีสีน้ำตาลแดงถึงน้ำตาลเข้ม มีเมือกเยิ้ม และมีกลิ่นเหม็น ทำให้ใบแห้งเหี่ยว ต้นเหี่ยวหรือหักพับลงมา  โรคนี้ถ้าระบาดมากจะทำให้ผลผลิตเสียหายเป็นอย่างมาก  
การป้องกันกำจัดโรค
  • ถอนต้นเป็นโรคออกทิ้งนอกแปลง
  • การเตรียมแปลงที่มีการระบายน้ำได้ดีน้ำไม่ท่วมขัง หลีกเลี่ยงการปลูกพืชหนาแน่นและการให้ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราที่สูง
  • การปลูกพืชหมุนเวียนในแหล่งที่เคยมีโรคระบาด
โรคต้นเน่าของข้าวโพด (Bacterial stalk rot)
””

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า