มาทำความรู้จักกับเจ้า "หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด" กันครับ - ICPLADDA

มาทำความรู้จักกับเจ้า “หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด” กันครับ

5443 จำนวนผู้เข้าชม

ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Spodoptera frugiperda)

ในประเทศไทย เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนอนชนิดนี้จากที่เป็นแค่แมลงศัตรูพืชต่างถิ่นตอนนี้น่าจะปรับตัวและอาศัยอยู่ในประเทศของเราอย่างถาวรแล้ว


ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่แทบทุกพื้นที่คงรู้แล้วว่าสารที่ได้ผลดี มีประสิทธิภาพในการกำจัดและราคาค่อนข้างถูก สารหนึ่ง คือสารอิมาเมกตินเบนโซเอท ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งสูตรน้ำ (1.92% EC และ 2.0%ME) และสูตรเม็ด (5%WG)  เนื่องจากสารตัวนี้ได้ผลดีทั้งในแปลงและในห้องปฎิบัติการ อีกทั้งข้อที่สำคัญที่สุดคือราคาต้นทุนต่อไร่จะถูกที่สุดในบรรดาสารฆ่าแมลงที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำออกมา เพราะสารตัวอื่นจะเฉลี่ยอยู่ที่ 104 – 213 บาท/ไร่ ขึ้นไป


สารนี้ดีก็เพราะอยากให้เกษตรกรสามารถใช้สารที่ราคาถูกและมีประสิทธิภาพแบบนี้ได้ไปนานๆครับ เพราะถ้าหากว่าหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดนี้ดื้อยานี้แล้ว การป้องกันกำจัดก็จะทำได้ยากขึ้น อีกทั้งเกษตรกรก็ต้องใช้สารที่มีราคาแพงมากขึ้นด้วยครับ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมเกษตรกรในบ้านเราที่ส่วนใหญ่ใช้สารฆ่าแมลงชนิดไหนดีก็จะใช้ตลอด ใช้ซ้ำๆอยู่ชนิดเดียวทั้งด้วยความมั่นใจที่ใช้แล้วได้ผลดี หรือความที่ไม่รู้ถึงปัญหาในการดื้อยาของแมลงศัตรูพืชในบ้านเรา ซึ่งมีตัวอย่างที่พบมาแล้วทั้งสารฟลูเบนไดอะไมด์ในหนอนใยผัก หรือสารสไปนีโทแรมในเพลี้ยไฟมะม่วง

ดังนั้นเกษตรกรก็ควรที่จะเตรียมตัวรับมือกับในการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดชนิดนี้อย่างถูกต้องกันครับ โดยขอใช้หลัก 3 ถูก (ถูกชนิด ถูกเวลา ถูกวิธี) ในการกำจัดหนอนชนิดนี้ให้ มีประสิทธิภาพ ประหยัด ปลอดภัย กันครับ

ถูกชนิด “ชนิดของหนอน” หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด หรือ Fall armyworm มีลักษณะเด่นคือ ส่วนบนของหัวเป็นแถบสีขาวรูปตัว Y หัวกลับ ด้านข้างและหลังมีแถบสีขาวตามยาวของลำตัว ปล้องท้องก่อนปล้องสุดท้ายมีจุดสีดำ 4 จุด หนอนชนิดนี้มีต้นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน จึงมีรายงานการระบาดในแถบอเมริกา ทั้งในสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ แต่หนอนชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ในเมืองไทยได้สบายๆด้วยเหตุผลดังนี้


1. ผีเสื้อสกุลนี้ (Genus Spodoptera) เป็นสกุลที่เกษตรกรในบ้านเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี เช่น หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม ดังนั้น การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในบ้านเราของหนอนชนิดนี้ไม่น่ายาก
2. ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมากในบ้านเรา อาจเนื่องจากสภาพอากาศและอาหารที่สมบูรณ์ จากที่ต่างประเทศรายงานใช้เวลารุ่นละ 30-40 วัน แต่พอมาเลี้ยงจริงๆประมาณ 20 – 30 วัน ก็ครบวงจรชีวิตแล้ว
3. เป็นแมลงศัตรูพืชที่กินพืชได้มากกว่า 80 ชนิด เช่น ข้าว อ้อย ฝ้าย ทานตะวัน ถั่วเหลือง หญ้า และล่าสุดที่ผมพบรายงานเข้ามาในเดือนนี้คือ กล้วยไม้ในอำเภอสามพราน และอ้อยที่ราชบุรี
4. อาจพูดได้ว่าหนอนชนิดนี้ทำลายข้าวโพดตลอดอายุการเก็บเกี่ยวเพราะเริ่มเข้าทำลายตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก
5. หนอนชนิดนี้ เมื่อโตเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสามารถบินได้ไกลเฉลี่ยคืนละ 100 กม. จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พบการระบาดได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในแต่ละจังหวัด 


6. เกษตรกรไม่เคยใช้สารฆ่าแมลงมาก่อน ข้อสุดท้ายนี้สำคัญมากอีกข้อหนึ่งคือเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ปลูกข้าวโพดเป็นหลัก ไม่คุ้นเคยและรู้จักหนอนชนิดนี้มาก่อน เกษตรกรบางท่านยังคิดว่าเป็นตั๊กแตนเนื่องจากเห็นลักษณะใบที่ขาดแหว่งอย่างรุนแรง เพราะแต่ก่อนเกษตรกรไม่เคยใช้สารฆ่าแมลงเลย จะมีใช้ก็แต่สารกำจัดวัชพืชมากกว่า ด้วยเหตุผลที่ไม่ค่อยมีแมลงที่สร้างความเสียหายระดับนี้ รวมทั้งถ้าต้องพ่นสารบ่อยๆก็ไม่คุ้มต้นทุนในการปลูกด้วย

ถูกเวลา ข้อนี้ก็เป็นหัวใจสำคัญอีกข้อหนึ่งในการพิจารณาเพราะช่วงเวลาในการป้องกันกำจัดหากหนอนโตแล้ววัยท้ายๆเข้าไปอาศัยตรงใจกลางกรวยยอดของข้าวโพดสารฆ่าแมลงจะใช้ไม่ได้ผล แต่มีข้อฝากพิจารณาดังนี้ครับ คือผมมองว่าระดับ AT (Action threshold) หรือระดับที่ตัดสินใจควบคุม ต้องพิจารณาหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายรุนแรงของศัตรูพืชและมูลค่าของผลผลิต

ตอนนี้สารที่เราแนะนำมีราคาแพงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าผลผลิตโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งหากเราพ่นสารถี่จนเกินไปก็จะไม่คุ้มทุน ดังนั้น ระดับที่ตัดสินใจควบคุม (AT) ก็ควรจะต้องสูงขึ้นมา เมื่อเทียบกับข้าวโพดชนิดอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่า เช่น ตอนนี้เราประเมินระดับความเสียหายของใบข้าวโพดโดยแบ่งเป็น 9 ระดับ ซึ่งอ้างอิงจาก Davis score การเริ่มต้นตัดสินใจพ่นสารควรมีการสำรวจแปลงว่าต้นข้าวโพดในแปลงของเรามีความเสียหายอยู่ในระดับใด การตัดสินใจพ่นสาร ผมคิดว่า ควรจะเริ่มใช้สารในการกำจัดที่ระดับการทำลาย 6-7-8 หรือระดับการทำลายปานกลาง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลในแปลงทดลองพบว่า หากเราพ่นสารที่ระดับการทำลาย 6-8 ยอดใหม่ที่แตกออกมามีสภาพดีไม่มีรอยทำลาย

ซึ่งหากเราตัดสินใจพ่นที่ระดับการทำลายต่ำมากๆ เช่น ระดับ 2 ที่เจอเพียงแค่รอยทำลายเป็นขีดๆ อาจต้องพ่นบ่อยเป็นการทำให้ต้นทุนสูงขึ้น หรือรอยเล็กๆขีดๆระดับนี้อาจเป็นหนอนชนิดอื่นก็ได้ เพราะในแปลงก็มีหนอนหลายชนิด ที่สำคัญหากเราใช้สารมากเกินไปอาจจะเป็นการไปทำลายศัตรูธรรมชาติเร็วไปได้

ถูกวิธี
ควรใช้อัตราพ่น (น้ำที่ใช้ผสมยาพ่นต่อไร่) ตามกรมวิชาการเกษตรกำหนดเพราะอัตราพ่นมีความสัมพันธ์กับอัตราการใช้สารฆ่าแมลงด้วย
ควรพ่นในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นเนื่องจากลงสงบเหมาะกับการพ่นสารมากกว่าอีกทั้งยังปลอดภัยกับตัวผู้พ่นด้วยครับ (อย่าลืมว่าผู้พ่นสารควรยืนอยู่เหนือลมเสมอนะครับ) แต่ถ้าเลือกได้พ่นในช่วงเย็นจะเหมาะสมกว่าเพราะเป็นกลุ่มผีเสื้อกลางคืน
ควรเน้นพ่นลงไปในส่วนของกรวยยอดข้าวโพดเนื่องจากเป็นแหล่งอาศัยของหนอนชนิดนี้ และขณะพ่นไม่ส่ายหัวฉีดไปมาเพราะจะทำให้การพ่นไม่สม่ำเสมอครับ

ขอบคุณข้อมูล: กลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร
 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า