5280 จำนวนผู้เข้าชม
ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรไทยอย่างมาก โดยเฉพาะโดรนที่กำลังเป็นที่นิยมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดรนถูกนำมาใช้ในการพ่นสารกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้แรงงานคน หรือแทนการพ่นด้วยอุปกรณ์อื่นๆ เช่น เครื่องพ่นสะพายหลัง หรือรถไถที่ติดอุปกรณ์ต่อพ่วงสำหรับพ่นยา นอกจากโดรนจะใช้เวลาพ่นต่ำกว่าการพ่นด้วยวิธีอื่นๆ ยังมีความสะดวก รวดเร็ว และใช้แรงงานในการจัดการน้อย หรือมีเพียง 1 คนก็สามารถออกไปพ่นยาได้แล้วทำให้ตอบโจทย์เกษตรกรยุคใหม่เป็นอย่างมาก ส่วนเหตุผลที่อาจจะเป็นข้อจำกัดในการใช้โดรน คือ ค่าใช้จ่ายในการดูแลค่อนข้างสูง ต้องมีใบอนุญาตในการบิน อุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ เครื่องปั่นไฟ ยังมีราคาสูง และที่สำคัญ คือ ข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับโดรนพ่นยานั้นยังมีไม่มาก
วันนี้ ไอซีพี ลัดดา จึงอยากแนะนำและบอกหลักการในการเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชสำหรับโดรนเกษตร
ข้อควรรู้ !! ก่อนเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืช
ไม่ว่าจะเป็นการพ่นด้วยวิธีไหนหรือเครื่องมือแบบไหน จำเป็นจะต้องทราบหลักการในการแก้ปัญหาศัตรูพืช ดังนี้
วิเคราะห์ปัญหาให้ได้ก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใด เช่น เกิดจากโรค (โรคอะไร) เกิดจากแมลง (แมลงชนิด) หรือวัชพืชลักษณะอย่างไร (วัชพืชใบแคบ ใบกว้าง กก หรือเถาเลื้อย) เป็นต้น
เลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น จะเป็นการพ่นป้องกันหรือพ่นเพื่อกำจัดก็จำเป็นต้องทราบปัญหาก่อน
เลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชตามคำแนะนำข้างฉลาก หรือที่ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายแนะนำ การใช้อัตราที่ต่ำเกินไปก็อาจจะทำให้ศัตรูพืชไม่ตายกลับมาสร้างปัญหาได้อีก ใช้อัตราสูงเกินไปก็อาจจะทำให้ศัตรูพืชดื้อยาได้ในอนาคตและพืชอาจจะได้รับผลกระทบ ใบไหม้ ดอกไหม้ ดอกร่วงได้ หรือที่เรียกกันว่า Toxic (ความเป็นพิษต่อพืชปลูก) จากการใช้เกินอัตรา
พ่นในช่วงเวลาที่เหมาะสม ควรพ่นในช่วงเช้า หรือเย็นเท่านั้น หลีกเลี่ยงการพ่นในขณะแดดร้อน หรือช่วงฝนกำลังจะตก และที่สำคัญต้องรู้วงจรการเข้าทำลายของศัตรูพืชด้วย เช่น หนอนมักทำลายในช่วงเช้ามืดก็ควรพ่นยาในช่วงเช้า ในช่วงปลายฝนต้นหนาวมักพบโรคราน้ำค้างในหลายพืชการพ่นยาในช่วงเย็นก็ช่วยป้องกันและลดปัญหาการเข้าทำลายของโรคได้ดีกว่าพ่นในช่วงเช้า เนื่องจากกลางคืนความชื้นจะสูงเหมาะกับการแพร่ระบาดของโรคมากกว่าในช่วงกลางวัน
สูตรผสมของสารกำจัดศัตรูพืช สำหรับโดรนพ่นยา ?
สำหรับเกษตรกรผู้ใช้โดรนหรือผู้ให้บริการโดรนพ่นยาจำเป็นจะต้องทราบสูตรผสมของสารกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากมีทั้งชนิดผง ชนิดเม็ด ชนิดน้ำ ชนิดคลุกเมล็ด ชนิดเหยื่อพิษ เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ผิดวัตถุประสงค์ และใช้สารกำจัดศัตรูพืชได้มีประสิทธิภาพสูงสุด
วิธีการดูสูตรผสมจะเป็นตัวอีกษรย่อภาษาอังกฤษ 2 ตัว ต่อท้ายสารสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น Omethoate 50% W/V SL ซึ่ง SL คือ สูตรผสมชนิดน้ำต้องผสมน้ำก่อนนำไปฉีดพ่น หรือ Dimethomorph 50% WG ซึ่ง WG คือ สูตรผสมชนิดเม็ดต้องละลายน้ำก่อนนำไปฉีดพ่น เป้นต้น ไปดูต่อกันเลยว่าจะมีสูตรผสมอะไรบ้างที่ควรรู้อีก
ตัวอักษรย่อเหล่านี้คือ สูตรน้ำ (ต้องผสมน้ำก่อนนำไปใช้ฉีดพ่น)
> สูตร EC, SC, OD, ME, SL, EW, CS, ZC, ZE
ตัวอักษรย่อเหล่านี้คือ สูตรผง หรือเกล็ด หรือเม็ด (ต้องละลายน้ำก่อนนำไปใช้ฉีดพ่น)
> สูตร WG, WP, SG, SP, WT, ST
ตัวอักษรย่อเหล่านี้คือ สูตรที่ใช้สำหรับคลุกเมล็ด
> สูตร DS, WS, SS, LS
ตัวอักษรย่อเหล่านี้คือ สูตรที่ใช้ได้ทันทีไม่ต้องเจือจาง
> สูตร GR, DP, ED, FG, EG, GG, MG, SU, UL
ตัวอักษรย่อเหล่านี้คือ สูตรที่ใช้เฉพาะอย่าง
> สูตร GB (สูตรที่ใช้ในยากำจัดหอย เช่น metaldehyde 5% GB) หรือ WB (สูตรที่ใช้ในเหยื่อพิษกำจัดหนู เช่น bromadiolone 0.005% W/W WB) เป็นต้น
รู้สูตรผสมของสารกำจัดศัตรูพืชแล้ว ต้องรู้ลำดับการผสมด้วย !!
ก่อนผสมยาแนะนำให้ผสมสารกำจัดศัตรูพืชในถังสต๊อกหรือถังน้ำเล็กๆ ก่อนจะนำไปผสมในถังที่ใช้พ่นจริง เพื่อละลายให้ยาเข้ากันให้ดีก่อน และยังสามารถดูได้อีกว่ายาที่ผสมไปนั้นมีตะกอน มีฟอง มีไอระเหย หรือปฏิกิริยายาอื่นๆ ที่บ่งบอกได้ว่ายาไม่เข้ากันได้ง่ายขึ้น
หากมีที่ใช้สารแผ่กระจายจับใบที่มีคุณสมบัติปรับ pH น้ำได้ด้วย ให้ทำการผสมลงไปในน้ำก่อน แล้วจึงตามด้วยสูตรผสมดังนี้
ผสมสารที่มีสูตรผสมชนิดผง คือสูตร WP >> WG >> SG >> SP ตามลำดับ
ตามด้วยสูตรผสมชนิดน้ำ คือสูตร SC >> SL >> CS >> OD >> EW >> ME ตามลำดับ
ส่วนสูตรผสมชนิดน้ำมัน หรือสูตร EC ให้ใส่ลำดับสุดท้าย
และตามด้วยสารแผ่กระจายจับใบ สำหรับใครที่นิยมผสมฮอร์โมนหรือปุ๋ยเกร็ดก็สามารถใส่เข้าไปได้ แต่หลังจากใส่ผสมสารจับใบไปแล้ว
สำหรับโดรนพ่นยา สูตรผสมที่เหมาะสมที่สุดก็ควรจะเป็นสูตรผสมชนิดน้ำ เนื่องจากจะไม่พบปัญหาการอุดตันหัวฉีด ส่วนสูตรผสมที่เป็นชนิดผง ชนิดเม็ด หรือชนิดเกล็ด หากจำเป็นต้องใช้ควรมีการผสมแยกและละลายยาให้เข้ากันให้ดี แนะนำว่าควรหาวัสดุมากรองอีกชั้นก่อนที่จะผสมในถังเพื่อกรองเอาตะกอนออกหรือส่วนที่ไม่ละลายออกไป เพื่อไม่ให้อุดตันหัวฉีด
วิธีสังเกตว่าการผสมสารกำจัดศัตรูพืชไม่เข้ากัน ?
เมื่อมีการผสมสารกำจัดศัตรูพืชไปแล้ว สิ่งที่ควรสังเกตต่อมาก็คือ ยาที่ทำการผสมเข้ากันได้หรือไม่ โดยมีข้อสังเกตดังนี้
> เกิดการแยกชั้นระหว่างน้ำกับเนื้อยา
> เนื้อยาตกตะกอนเป็นจำนวนมาก
> เนื้อยาเป็นวุ้น
หากยาที่ผสมมีลักษณะดังกล่าวไม่ควรนำไปฉีดพ่น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับพืชและอุปกรณ์ที่ใช้ฉีดพ่น
วิธีคำนวณ ? อัตราการใช้สารกำจัดศัตรูพืช สำหรับโดรนพ่นยา
การที่จะพ่นสารให้ได้ในอัตราพ่นที่เหมาะสมและปริมาณที่กำหนด อัตราการพ่นจะแตกต่าง กันไปแล้วแต่ละลักษณะงานซึ่งมีตั้งแต่ 3.5 – 200 ลิตรต่อไร่
> สำหรับการพ่นในอัตรา 80 ลิตรต่อไร่ ขึ้นไปจัดเป็นการพ่นในอัตราสูงหรือแบบน้ำมาก (High volume)
> การพ่นในอัตรา 20 – 80 ลิตรต่อไร่ จัดเป็นการพ่นในอัตราปานกลางหรือแบบน้ำปานกลาง (Medium volume)
> ส่วนการพ่นในอัตรา 3.5 – 20 ลิตรต่อไร่ จัดเป็นการพ่นในอัตราต่ำหรือแบบน้ำน้อย (Low volume)
> สำหรับการผสมสารที่ถูกต้องในอัตราต่ำหรือแบบน้ำน้อย คือ ลดปริมาณน้ำที่ใช้ผสมลงจากอัตราปกติแต่ปริมาณสารเคมีเท่าเดิม
ดังนั้น สำหรับโดรนจะเป็นการพ่นในอัตราต่ำหรือแบบน้ำน้อย (Low volume) ยกตัวอย่าง วิธีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในพืชต่างๆ สำหรับโดรน
ตัวอย่างการคำนวณอัตราการใช้สารกำจัดศัตรูพืชสำหรับโดรน
นาข้าว
> ปกติการพ่นในระยะคุมเลน 0-3 วันหลังหว่านข้าว ใช้สาร บิวทาคลอร์ 60% W/V EW อัตรา 330 ซีซี ผสมน้ำ 20-25 ลิตร พ่นบนพื้นที่ 1 ไร่ หากเป็นการพ่นด้วยโดรนจะใช้ปริมาณสารเท่าเดิมแต่ลดปริมาณน้ำลง คือ ใช้สารบิวทาคลอร์ 60% W/V EW อัตรา 330 ซีซี ผสมน้ำ 5 ลิตร พ่นบนพื้นที่ 1 ไร่ ในกรณีที่โดรนมีความจุ 5 ลิตร แล้วพ่นได้พื้นที่ 1 ไร่
> หากโดรนพ่นยามีความจุน้ำ 10 ลิตร และสามารถพ่นได้พื้นที่ 2.5 ไร่ การผสมสารจะเป็นดังนี้ คือ พื้นที่ที่โดรนพ่นได้ (2.5 ไร่) X อัตราการใช้สารต่อไร่ (330 ซีซี) = เท่ากับ 825 ซีซี ดังนั้น โดรนที่มีความจุน้ำ 10 ลิตร และพ่นได้พื้นที่ 2.5 ไร่ ต้องผสมสารบิวทาคลอร์ อัตรา 825 ซีซี
> การผสมสารลงไปในถังพ่นของโดรน หากมีความจุ 10 ลิตร จะเป็นสารบิวทาคลอร์ 825 ซีซี หรือ 0.825 ลิตร และเติมน้ำอีก 9,175 ซีซี หรือ 9.175 ลิตร เมื่อเทผสมลงไปในถังก็จะได้สารและปริมาณน้ำที่ความจุ 10 ลิตร
อ้อย
> ปกติการพ่นในระยะคุมหญ้าก่อนหรือหลังปลูกอ้อย ใช้สารอะซีโทคลอร์ 50% W/V EC อัตรา 800 ซีซี ผสมน้ำ 60-80 ลิตร พ่นบนพื้นที่ 1 ไร่ หากเป็นการพ่นด้วยโดรนจะใช้ปริมาณสารเท่าเดิมแต่ลดปริมาณน้ำลง คือ ใช้สารอะซีโทคลอร์ 50% W/V EC อัตรา 800 ซีซี ผสมน้ำ 5 ลิตร พ่นบนพื้นที่ 1 ไร่ ในกรณีที่โดรนมีความจุ 5 ลิตร แล้วพ่นได้พื้นที่ 1 ไร่
> หากโดรนพ่นยามีความจุน้ำ 12 ลิตร และสามารถพ่นได้พื้นที่ 3 ไร่ การผสมสารจะเป็นดังนี้ คือ พื้นที่ที่โดรนพ่นได้ (3 ไร่) X อัตราการใช้สารต่อไร่ (800 ซีซี) = เท่ากับ 2,400 ซีซี หรือ 2.4 ลิตร ดังนั้น โดรนที่มีความจุน้ำ 12 ลิตร และพ่นได้พื้นที่ 3 ไร่ ต้องผสมสารอะซีโทคลอร์ อัตรา 2.4 ลิตร
> การผสมสารลงไปในถังพ่นของโดรน หากมีความจุ 12 ลิตร จะเป็นสารอะซีโทคลอร์ 2,400 ซีซี หรือ 2.4 ลิตร และเติมน้ำอีก 9,600 ซีซี หรือ 9.6 ลิตร เมื่อเทผสมลงไปในถังก็จะได้สารและปริมาณน้ำที่ความจุ 12 ลิตร
ข้าวโพด
> ปกติการพ่นสารกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพด อายุ 1 เดือน ใช้สารอิมาเมกติน เบนโซเอท 2.0% W/V ME อัตรา 60 ซีซี ผสมน้ำ 60-80 ลิตร พ่นบนพื้นที่ 1 ไร่ ผสมกับสารลูเฟนนูรอน 5.0% W/V EC อัตรา 60 ซีซี ผสมน้ำ 60-80 ลิตร พ่นบนพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพด หากเป็นการพ่นด้วยโดรนจะใช้ปริมาณสารเท่าเดิมแต่ลดปริมาณน้ำลง คือ ใช้สารอิมาเมกติน เบนโซเอท 2.0% W/V ME อัตรา 60 ซีซี และสารลูเฟนนูรอน 5.0% W/V EC อัตรา 60 ซีซี ผสมน้ำ 5 ลิตร พ่นบนพื้นที่ 1 ไร่ ในกรณีที่โดรนมีความจุ 5 ลิตร แล้วพ่นได้พื้นที่ 1 ไร่
> หากโดรนพ่นยามีความจุน้ำ 15 ลิตร และสามารถพ่นได้พื้นที่ 3.5 ไร่ การผสมสารจะเป็นดังนี้ คือ พื้นที่ที่โดรนพ่นได้ (3.5 ไร่) X อัตราการใช้สารต่อไร่ (60 + 60 ซีซี) = เท่ากับ 420 ซีซี (ซึ่งจะเป็นสารอิมาเมกติน เบนโซเอท 210 ซีซี และสารลูเฟนนูรอน 210 ซีซี) ดังนั้น โดรนที่มีความจุน้ำ 15 ลิตร และพ่นได้พื้นที่ 3.5 ไร่ จะต้องผสมสารอิมาเมกติน เบนโซเอท อัตรา 210 ซีซี และสารลูเฟนนูรอน อีก 210 ซีซี
> การผสมสารลงไปในถังพ่นของโดรน หากมีความจุ 15 ลิตร จะเป็นสารอิมาเมกติน เบนโซเอท 210 ซีซี + สารลูเฟนนูรอน 210 ซีซี = 420 ซีซี หรือ 0.42 ลิตร และเติมน้ำอีก 14,580 ซีซี หรือ 14.58 ลิตร เมื่อเทผสมลงไปในถังก็จะได้สารและปริมาณน้ำที่ความจุ 15 ลิตร
หากเกษตรกรหรือผู้ใช้โดรนพ่นยาท่านใดต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ติดต่อได้ที่Line: @icpladda หรือ Facebook ไอซีพี ลัดดา
หรือโทร 02 029 9888
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
-
เฮียครับ เอา“ยาคุมไข่” ด้วยนะ
เกษตรกรหลายๆท่านคงเคยได้ใช้คำพูดนี้กับเวลาที่ไปซื้อสารกำจัดแมลงตามร้านจำหน่ายส…
-
โรคเมล็ดด่างในนาข้าว
โรคเมล็ดด่างเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อหลายชนิด ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้า…
-
โรคกาบใบแห้งของข้าว
โรคกาบใบแห้ง (sheath blight disease) เป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่งในข้าว โรคนี้จะระบาด…
-
โรคราสีชมพูในทุเรียน
โรคราสีชมพูเป็นโรคที่มีความสำคัญโรคหนึ่งในทุเรียนที่ทำความเสียหายให้กับทุเรียนได…