5158 จำนวนผู้เข้าชม
ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
โรคถอดฝักดาบหรือโรคหลาวนั้นมีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Fusarium fujikuroi Nirenberg (Gibberella fujikuroi) ปัจจุบันพบว่าเป็นโรคที่เป็นปัญหาและทำความเสียหายกับการปลูกข้าวของเกษตรกรมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวบางสายพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งเป็นข้าวที่นิยมของผู้บริโภคทำให้เกษตรกรมีการปลูกอย่างแพร่หลาย โรคนี้จะทำให้ข้าวในระยะกล้าเกิดอาการโคนเน่า ต้นเน่า แห้งตายหลังจากปลูกได้ไม่เกิน 7 วันสำหรับกรณีที่เป็นโรครุนแรง แต่ส่วนใหญ่จะพบโรคเข้าทำลายในช่วงข้าวแตกกอหรือปักดำได้ประมาณ 15-45 วัน ทำให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโตและเชื้อสาเหตุโรคจะสร้างฮอร์โมนกระตุ้นให้ต้นข้าวมีข้อปล้องยืดยาวสูงเด่นกว่าข้าวปกติ ใบมีสีเขียวซีด แตกกอน้อย เกิดรากแขนงที่ข้อลำต้นตรงระดับน้ำ บางครั้งพบกลุ่มเส้นใยสีขาว หรือสีชมพูตรงบริเวณข้อปล้องที่มีอาการยืดยาว ต้นข้าวที่เป็นโรคมักจะตายก่อนเก็บเกี่ยวและมีน้อยมากที่อยู่รอดจนถึงออกรวง แต่ถ้าออกรวงเมล็ดข้าวในรวงจะลีบและเมล็ดด่าง
ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้โรคถอดฝักดาบแพร่ระบาด
-
เกษตรกรไม่รู้จักโรคถอดฝักดาบ อาการและสาเหตุของโรค ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นว่าเป็นลักษณะการแยกเพศของต้นข้าว เพราะข้าวที่เป็นโรคส่วนจะใหญ่จะไม่ออกรวงเนื่องจากตายก่อน (ซึ่งในความเป็นจริงข้าวเป็นพืชที่มีดอกแบบสมบูรณ์เพศ คือ มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน) ที่เรามักได้ยินเกษตรกรเรียกต้นข้าวที่เป็นโรคถอดฝักดาบนี้ว่า “ข้าวตัวผู้” หรือมีเกษตรกรบางรายเข้าใจว่าเป็น “ข้าววัชพืช” เนื่องจากต้นที่เป็นโรคจะยืดยาวสูงกว่าต้นข้าวไม่เป็นโรคคล้ายข้าววัชพืช ทำให้เกษตรกรมีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง ปล่อยให้โรคมีการระบาดในแปลง เก็บเมล็ดพันธุ์จากแปลงเป็นโรคไปปลูกต่อ
- เกษตรกรไม่ทำการกำจัดข้าวที่เป็นโรคถอดฝักดาบในแปลง ปล่อยให้โรคมีการพัฒนาอาการรุนแรงมากขึ้นซึ่งจะทำให้เชื้อโรคนั้นเพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย ส่งผลให้ให้เกิดการแพร่ระบาดและติดไปกับเมล็ดพันธุ์
- เกษตรกรนิยมซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกทำให้อาจมีเชื้อสาเหตุโรคติดมารวมทั้งไม่มีขั้นตอนการกำจัดเชื้อสาเหตุโรคก่อนการนำไปปลูก
แนวทางการแก้ปัญหา
- เกษตรกรให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะนำมาปลูก ไม่นำเมล็ดพันธุ์จากแปลงที่มีประวัติโรคถอดฝักดาบระบาดมาใช้ทำพันธุ์ และกรณีที่ซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกควรมีวิธีการกำจัดเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น
1.1) การคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซ็บ หรือ คาร์เบนดาซิม+แมนโคเซ็บ ที่อัตรา 3 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม เป็นต้น หรือแช่เมล็ดข้าวด้วยสารละลายของสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราดังกล่าว 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
1.2) การแช่เมล็ดพันธุก่อนนำไปปลูกในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซีลล นาน 10 นาที (Ishii, 1978) โดยวิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้เพื่อป้องกันและกำจัดโรคถอดฝักดาบในการปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ที่ประเทศญี่ปุ่น
-
เกษตรกรหมั่นสำรวจโรคในแปลงเพาะกล้าและแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นเป็นโรคให้กำจัดทิ้งไม่ปล่อยไว้ในแปลง
-
ภายหลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรควรทำการแล้วควรไขน้ำเข้าแปลงและไถพรวน ปล่อยน้ำขังในแปลงนาน 1-2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคที่ตกค้างในดิน
สุดท้ายนี้ในการที่จะแก้ปัญหาโรคถอดฝักดาบนั้น เกษตรกรจะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวมากขึ้น นอกเหนือจากความแข็งแรง สมบูรณ์แล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องปราศจากเชื้อสาเหตุโรคข้าวต่างๆ ติดมา โดยการกำจัดเชื้อสาเหตุโรคข้าวที่อาจจะติดมาด้วยวิธีการต่างๆ จะเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาการระบาดของโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เอกสารอ้างอิง
Ishii M (1978) On the control of bakanae disease. Seed disinfection of infected seeds by various heat treatments. Proc. Assoc. Plant Prot. Shikoku 13:35-40
http://www.brrd.in.th/rkb/
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
-
ประโยชน์นานาสายพันธ์ุข้าวไทย
ข้าวหอมมะลิ มีถิ่นกำเนิดในไทย นิยมปลูกและทานกันอย่างแพร่หลายมีกลิ่นหอมคล้ายใบ…
-
เตือนภัยเกษตรกร
เตือนภัยเกษตรกรเฝ้าระวัง โรคไหม้ระบาดในนาข้าว
-
ปราบวัชพืชในนาข้าว
จบปัญหาหญ้าดอกขาวดื้อยาในนาข้าว ด้วยไดนาคลอร์ผลิตภัณฑ์คุณภาพจากไอซีพลัดดาไดนาคลอ…
-
โรคราดําของลำไย
เชื้อราไม่ได้ทําลายต้นลำไยโดยตรงแต่จะไปขัดขวางการสังเคราะห์แสงของใบ ทำให้ชะงักกา…