โรคที่แพร่ระบาดไปกับดิน (Soil-borne disease) - ICPLADDA

โรคที่แพร่ระบาดไปกับดิน (Soil-borne disease)

3620 จำนวนผู้เข้าชม

โรคที่แพร่ระบาดไปกับดิน (Soil-borne disease)
โรคที่แพร่ระบาดไปกับดิน (Soil-borne disease)  โรคพืชที่แพร่ระบาดทางดินจัดเป็นโรคที่มีความสำคัญต่อการปลูกพืช ซึ่งสามารถทำให้เกิดความเสียหายกับพืชตั้งแต่ก่อนงอกหรือหลังจากพืชงอกแล้ว การจัดการโรคที่แพร่ระบาดทางดินจะทำได้ค่อนข้างยากในสภาพแปลงปลูก เนื่องจากเชื้อสาเหตุโรคมีความสามารถในการอยู่รอดในดินได้ดี การใช้สารป้องกันกำจัดโรคในดินทำได้ยาก และมีต้นทุนสูง  มีเชื้อสาเหตุโรคพืชหลายชนิดที่อาศัยและแพร่ระบาดทางดิน เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และไส้เดือนฝอย เป็นต้น โดยตัวอย่างเชื้อรา ได้แก่ Plasmodiophora, Phytophthora, Pythium, Fusarium หรือ Sclerotium  เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ Ralstonia solancearum หรือ Agrobacterium tumefaciens  ไส้เดือนฝอย ได้แก่ Meloidogyne spp. เป็นต้น
   ตัวอย่างโรคพืชที่แพร่ระบาดทางดิน เช่น โรคเน่าคอดิน (damping off) โรครากเน่า (root rot) โรครากบวม (club root) โรคเหี่ยว (wilt) หรือ โรครากปม (root knot) เป็นต้น
โรคเน่าระดับดินหรือโรคเน่าคอดินพริก (Damping off)
โรคเน่าระดับดินหรือโรคเน่าคอดินพริก (Damping off)
สาเหตุของโรค
เชื้อรา Pythium spp.
อาการของโรค 
เริ่มจากแผลฉ่ำน้ำบริเวณโคนต้นกล้าที่อยู่ระดับดินหรือใต้ดิน  แล้วขยายเป็นรอยช้ำสีน้ำตาลรอบโคนต้น  ทำให้ต้นกล้าหักพับ ต่อมาทำให้ต้นเหี่ยวและแห้งตาย
การแพร่ระบาด
เชื้อสาเหตุโรคจะอยู่ข้ามฤดูในดินหรือเศษซากพืช  เมื่อมีสภาพน้ำขังชื้นแฉะ เชื้อราสร้างสปอร์ว่ายน้ำได้ เข้าทำลายพืชได้ทั้งระยะเมล็ดก่อนงอก ระยะกำลังงอกจากเมล็ด  หรือระยะกล้า
การจัดการโรค 
  • ทำการเตรียมแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำดี
  • กำจัดเชื้อในแปลงเพาะกล้าโดยไถดินตากแดด
  • การใช้จุลินทรีย์ปฎิปักษ์คลุกเมล็ดหรือใส่ลงดิน เช่น เชื้อรา Trichoderma asperellum หรือเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis
  • การพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราเมื่อพบโรคระบาด เช่น metalaxyl, propamocarb hydrochloride หรือ etridiazole+quintozene เป็นต้น
โรคโคนเน่าพริกหยวก (Stem rot)
โรคโคนเน่าพริกหยวก (Stem rot)
สาเหตุของโรค
เชื้อรา Sclerotium rolfsii
อาการของโรค
เชื้อราเจริญจะเริ่มเข้าทำลายรอบโคนต้น มีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาว ทำให้โคนต้นเน่า ต่อมาต้นจะเหี่ยวและตายในที่สุด โดยเมื่อต้นพืชใกล้ตายเส้นใยเชื้อราจะสร้างเม็ดกลมเล็กๆ สีขาว และต่อไปจะเปลี่ียนเป็นสีน้ำตาลดำ
การแพร่ระบาด.
โรคนี้จะพบมากในดินที่มีสภาพเป็นกรด  เชื้อนี้แพร่กระจายไปกับดิน ติดไปกับคนและสัตว์ที่ีเข้าไปเหยียบย่ำ หรือแพร่ไปกับการให้น้ำแบบผิวดิน
การจัดการโรค
  • ถอนทำลายต้นเป็นโรค และโรยปูนขาวบริเวณที่ีพบโรคและพื้นดินใกล้เคียง
  • การป้องกันด้วยใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อรา Trichoderma asperellum หรือเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis  ราดดินในบริเวณที่พบอาการโรค  ก่อนปลูกพริกใหม่ ให้ไถกลับหน้าดินตากแดด
  • การปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อ
  • การพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น carboxin หรือ etridiazole เป็นต้น
โรคเหี่ยวของพริก (Bacterial wilt)
โรคเหี่ยวของพริก (Bacterial wilt)
สาเหตุของโรค
เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum
อาการของโรค
เป็นโรคที่ระบาดมากในพืชวงศ์มะเขือเทศและขิง พืชมีอาการเหี่ยวลู่ลงมาทั้งต้นในขณะที่ใบยังมีสีเขียว  ช่วงแรกอาการเหี่ยวจะเกิดในช่วงกลางวันและฟื้นเป็นปกติในช่วงกลางคืน  ต่อมาจะเหี่ยวอย่างถาวรและฟุบตายภายในไม่กี่วันหลังจากเริ่มแสดงอาการ  เมื่อนำต้นที่มีอาการเหี่ยวมาตัดตามขวางจะมีของเหลวสีขาวขุ่น (bacterial ooze) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียไหลออกมาจากรอยตัด
การแพร่ระบาด
เชื้ออาศัยอยู่ดินและติดไปกับส่วนขยายพันธุ์พืชต่างๆ  เชื้อจะแพร่กระจายได้ดีโดยน้ำฝนหรือระบบให้น้ำ เข้าทำลายพืชได้ดีผ่านทางบาดแผลบริเวณระบบราก พบมีความสัมพันธ์กับการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปม (root knot nematode) ถ้ามีการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปมจะทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเหี่ยวรุนแรงมากขึ้น
การจัดการโรค
  • การไถพลิกกลับดินตากแดดหลายๆ ครั้งเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อในดิน
  • การเตรียมดินให้มีการระบายน้ำได้ดี 
  • การอบดินฆ่าเชื้อด้วยการใช้ยูเรียกับปูนขาว อัตรา 80 กก. : 800 กก. ต่อไร่ หรือการใช้พืชตระกูลกะหล่ำในการอบดิน ในอัตรา 5-10% ของน้ำหนักดิน
  • การกำจัดแมลงศัตรูพืชและไส้เดือนฝอยรากปมในแปลงปลูก
โรครากปมพริก (Root knot)
โรครากปมพริก  (Root knot)
สาเหตุของโรค
ไส้เดือนฝอย  Meloidogyne spp.
อาการของโรค
สามารถพบเห็นอาการของพืชที่เป็นโรครากปมได้บนส่วนของพืชที่อยู่เหนือดิน เป็นอาการที่พืชเติบโตช้า  เหี่ยว  เหลืองซีด แคระแกร็น  ผลผลิตลดลง หรือตายได้  แต่อาการส่วนมากพบรากมีลักษณะเป็นปุ่มปม รากปมที่เกิดขึ้นมานั้นมีลักษณะของการบวมโตออกโดยรอบจากภายในรากที่รากแก้ว  รากแขนง  หรือรากฝอย
การแพร่ระบาด
ไส้เดือนฝอยแพร่ระบาดไปทางดิน ระบบการให้น้ำ และเศษซากพืช นอกจากนี้พืชอาศัยของไส้เดือนฝอยมีจำนวนมากมายหลายชนิด
การจัดการโรค
  • การปลูกพืชหมุนเวียน
  • การไถดินตากแดดหลายๆ ครั้ง
  • การเก็บทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรค
  • การใช้ชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อรา  Paecelomyces lilacinus  หรือเชื้อราเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nambi  เป็นต้น
””

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า