5 โรคข้าวที่ไม่ได้มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา - ICPLADDA

5 โรคข้าวที่ไม่ได้มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา

9930 จำนวนผู้เข้าชม

โรคข้าว
1.โรคขอบใบแห้ง (Bacterial Leaf Blight Disease)
สาเหตุโรค
    เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas oryzae pv. oryzae (ex Ishiyama) Swings et al.
ลักษณะอาการของโรค
   โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่ระยะกล้า แตกกอ จนถึงฺ ออกรวง ต้นกล้าก่อนนำไปปักดำจะมีจุดเล็กๆ ลักษณะช้ำที่ขอบใบของใบล่าง ต่อมาประมาณ 7-10 วัน จุดช้ำนี้จะขยายกลายเป็นทางสีเหลืองยาวตามใบข้าว ใบที่เป็นโรคจะแห้งเร็ว และสีเขียวจะจางลงเป็นสีเทาๆ อาการในระยะปักดำจะแสดงหลังปักดำแล้วหนึ่งเดือนถึงเดือนครึ่ง ใบที่เป็นโรคขอบใบมีรอยขีดช้ำ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ที่แผลมีหยดน้ำสีครีมคล้ายยางสนกลมๆ ขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด ต่อมาจะกลายเป็นสีน้ำตาลและหลุดไปตามน้ำหรือฝน ซึ่งจะทำให้โรคสามารถระบาดต่อไปได้ แผลจะขยายไปตามความยาวของใบ บางครั้งขยายเข้าไปข้างในตามความกว้างของใบ ขอบแผลมีลักษณะเป็นขอบลายหยัก แผลนี้เมื่อนานไปจะเปลี่ยนเป็นสีเทา ใบที่เป็นโรคขอบใบจะแห้งและม้วนตามความยาว ในกรณีที่ต้นข้าวมีความอ่อนแอและเชื้อโรคมีปริมาณมาก จะทำให้ท่อน้ำท่ออาหารอุดตัน ต้นข้าวจะเหี่ยวเฉาและแห้งตายทั้งต้นโดยรวดเร็ว เรียกอาการนี้ว่า ครีเสก (kresek)
การแพร่ระบาดของโรค
   เชื้อสาเหตุโรคสามารถแพร่ไปกับน้ำ ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง และสภาพที่มีฝนตก ลมพัดแรง จะช่วยให้โรคแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางรวดเร็ว
การป้องกันกำจัดโรค
  •  ไม่นำเมล็ดพันธุ์จากแปลงเป็นโรคมาใช้ปลูก
  • ใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทาน เช่น พันธุ์สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 กข 7 และ กข 23 ในสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์สูง
  • ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมาก
  • ไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น
  • ควรเฝ้าระวังการเกิดโรคถ้าปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ เช่น พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 กข 6      เหนียวสันป่าตอง พิษณุโลก 2  ชัยนาท 1 เมื่อเริ่มพบอาการของโรคบนใบข้าว ให้ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไอโซโพรไทโอเลน คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ เสตร็พโตมัยซินซัลเฟต+ออกซีเตทตราไซคลินไฮโดรคลอร์ไรด์ ไตรเบซิคคอปเปอร์ซัลเฟต
โรคขอบใบแห้ง (Bacterial Leaf Blight Disease)
2. โรคใบขีดโปร่งแสง (Bacterial Leaf Streak Disease)
สาเหตุโรค
   เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas oryzae pv. oryzicola (Fang et al.) Swings et al.
ลักษณะอาการของโรค
   โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่ระยะข้าวแตกกอจนถึงฺออกรวง อาการปรากฏที่ใบ เริ่มแรกเห็นเป็นขีดช้ำยาวไปตามเส้นใบ ต่อมาค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือส้ม เมื่อแผลขยายรวมกันก็จะเป็นแผลใหญ่ แสงสามารถทะลุผ่านได้ และพบแบคทีเรียในรูปหยดน้ำสีเหลืองคล้ายยางสนกลมๆ ขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุดปรากฏอยู่บนแผล ความยาวของแผลขึ้นอยู่กับความต้านทานของพันธุ์ข้าว และความรุนแรงของเชื้อ ในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค แผลจะขยายจนใบไหม้ไปถึงกาบใบ ลักษณะของแผลจะคล้ายคลึงกับเกิดบนใบ ส่วนในพันธุ์ต้านทาน จำนวนแผลจะน้อยและแผลจะไม่ขยายตามความยาวของใบ รอบๆ แผลจะมีสีน้ำตาลดำ
การแพร่ระบาดของโรค
   ข้าวที่เป็นโรค มักถูกหนอนกระทู้ หนอนม้วนใบ และแมลงดำหนามเข้าทำลายซ้ำเดิม ในสภาพที่มีฝนตก ลมพัดแรง จะช่วยให้โรคแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางรวดเร็ว และถ้าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ใบข้าวที่แตกใหม่ อาจไม่แสดงอาการโรคเลย
การป้องกันกำจัดโรค
  •  ไม่นำเมล็ดพันธุ์จากแปลงเป็นโรคมาใช้ปลูก
  • ในดินที่อุดมสมบูรณ์ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมาก
  • ไม่ควรปลูกข้าวแน่นเกินไปและอย่าให้ระดับน้ำในนาสูงเกินควร
โรคใบขีดโปร่งแสง (Bacterial Leaf Streak Disease)
3. โรคใบหงิก (โรคจู๋) (Ragged Stunt Disease)
สาเหตุของโรค
   เชื้อไวรัส Ragged Stun Virus
ลักษณะอาการของโรค
   ต้นข้าวเป็นโรคได้ ทั้งระยะกล้า แตกกอ ตั้งท้อง อาการของต้นข้าวที่เป็นโรค สังเกตได้ง่าย คือข้าวต้นเตี้ย ไม่พุ่งสูงเท่าที่ควร ใบสีเขียวเข้ม แคบและสั้น ใบใหม่แตกช้ากว่าปกติ และเมื่อแตกพุ่งขึ้นมาไม่ค่อยสมบูรณ์ ปลายใบบิดเป็นเกลียว เป็นลักษณะเด่นที่เรียกว่า โรคใบหงิก นอกจากนี้ยังสังเกตเห็นขอบใบแหว่งวิ่นและเส้นใบบวมโป่งเป็นแนวยาวทั้งที่ใบและกาบใบ ข้าวที่เป็นโรคออกรวงล่าช้าและให้รวงไม่สมบูรณ์ รวงให้เมล็ดลีบเป็นส่วนใหญ่ เมล็ดด่างเสียคุณภาพเป็นส่วนมาก ผลผลิตลดลงประมาณ 1/3 ถึง 2/3 และถ้ามีโรคแทรกเข้าซ้ำเติม เช่น โรคเมล็ดด่างและโรคใบขีดสีน้ำตาล ซึ่งทั้งสองโรคนี้มักพบเสมอกับข้าวที่เป็นโรคใบหงิก อาจทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 100%
การแพร่ระบาดของโรค
   เชื้อไวรัสสาเหตุโรคถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ คือ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว
การป้องกันกำจัดโรค
  • การควบคุมน้ำในแปลงให้มีปริมาณที่เหมาะสม  ไม่ควรขังน้ำไว้มาก
  • ใช้พันธุ์ที่ต้านทานต่อแมลงพาหะ เช่น สุพรรณบุรี 90 สุพรรณบุรี 3 และ ชัยนาท
  • ใช้สารฆ่าแมลงพาหะในระยะที่แมลงเป็นตัวอ่อน เช่น ไดโนทีฟูเรน หรือ บูโพรเฟซิน หรือ อีโทเฟนพรอกซ์ ไม่ควร ใช้สารฆ่าแมลงผสมกันหลายๆ ชนิดหรือใช้สารฆ่าแมลงผสมสารป้องกันกำจัดโรคหรือสารกำจัดวัชพืช เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงลดลง
  • ถ้าปฏิบัติได้ เมื่อมีโรคระบาดรุนแรงควรงดปลูก 1 – 2 ฤดู เพื่อตัดวงจรชีวิตแมลงพาหะ
โรคใบหงิก (โรคจู๋) (Ragged Stunt Disease)
4.โรครากปม (Root-knot Disease)
สาเหตุของโรค
   ไส้เดือนฝอย Meloidogyne  graminicola
ลักษณะอาการของโรค
   ส่วนมากพบในพื้นที่นาภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบสังเกตุได้ง่ายในระยะกล้าที่จะมีอาการใบเหลืองเป็นเวิ้งๆ ต้นข้าวแคระแกร็น เมื่อถอนออกมาปลายรากเกิดเป็นปม แต่ถ้ามีปมน้อย
การแพร่ระบาดของโรค
   แพร่ระบาดได้ทั้งทางดิน น้ำ และเศษซากพืช พืชอาศัยนอกจากข้าวแล้วยังมีวัชพืชต่างๆ
การป้องกันกำจัดโรค
  • ขังน้ำท่วมแปลงนานกว่า 30 วัน หรือไถตากดินให้แห้ง
  • การพืชอาศัยหมุนเวียน เช่น ปอเทือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง เป็นต้น เพื่อลดจำนวนไส้เดือนฝอยรากปมในดิน
5โรคข้าวที่ไม่ได้มีสาเหตุจากเชื่อรา-05
5.โรคเมาตอซัง (Akiochi)
สาเหตุของโรค
ผลกระทบจากแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์และความร้อนที่มาจากกระบวนการย่อยสลายตอซัง
ลักษณะอาการของโรค
   ปัญหานี้มักเกิดกับเกษตรกรทำนาอย่างต่อเนื่องไม่มีการพักนา โดยทั่วไปเริ่มพบอาการเมื่อข้าวอายุประมาณ 1 เดือน หรือ ระยะแตกกอ ต้นข้าวจะมีอาการขาดธาตุไนโตรเจน ต้นแคระแกร็น ใบซีดเหลืองจากใบล่างๆ อาจพบอาการของโรคใบจุดสีน้ำตาล รากเน่าดำไม่สามารถดูดธาตุอาหารจากดินได้ และโคนต้นข้าวอาจเปื่อยยุ่ยดึงขาดได้ง่าย ถ้าเจริญถึงระยะออกรวงข้าวจะไม่มีน้ำหนัก
การป้องกันกำจัดโรค
  • ทำการระบายน้ำที่อยู่ในแปลงข้าวที่เกิดอาการออก ทิ้งให้ดินแห้งประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้รากข้าวได้รับอากาศ หลังจากนั้นจึงนำน้ำใหม่เข้าและหว่านปุ๋ย
  • หลังเก็บเกี่ยวข้าว ควรทิ้งระยะพักดินประมาณ 1 เดือน ไถพรวนแล้วควรทิ้งระยะให้ตอซังเกิดการหมักสลายตัวสมบูรณ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์
โรคเมาตอซัง (Akiochi)
””

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า