405 จำนวนผู้เข้าชม
ไฟทอปธอรา โรคที่สวนทุเรียนกลัวมากกว่าผี
ไฟทอปธอรา หรือ โรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนถือว่าเป็นโรคร้ายของทุเรียนที่เกษตรกรต้องระมัดระวัง เพราะโรคสามารถเข้าทำลายทุเรียนได้ทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตเน่าเสียหาย และต้นทุเรียนตายได้ ซึ่งในการควบคุมโรคจะเน้นการจัดการโรครากเน่าโคนโดยผสมผสานกันหลายๆ วิธีการร่วมกัน เช่น
การหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ
หากพบอาการของโรคที่ลำต้นหรือกิ่ง ให้ขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออกดู ถ้าพบโรคให้ถากเปลือกและเนื้อไม้ส่วนที่เป็นโรคออกและนำไปทิ้งทำลายนอกแปลง แล้วทาแผลด้วยปูนแดงหรือสารกำจัดโรคพืช เช่น metalaxyl (4) fosetyl Al (P07) หรือ copper compounds (M02) เป็นต้น
หากพบกิ่งที่เป็นโรคให้ตัดแต่งออก นอกจากนี้ควรตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทและแสงแดดส่องถึง เพราะจะช่วยให้ความชื้นในทรงพุ่มไม่สูงเกินไป
หากพบการเข้าทำลายของแมลงต่างๆ เช่น มอด หนอนด้วงหนวดยาว เป็นต้น ที่มักเข้าทำลายตามลำต้นหรือกิ่งของทุเรียน ให้รีบทำการป้องกันกำจัดไม่ปล่อยให้ลุกลาม
หากพบบริเวณที่มีน้ำขังในแปลงปลูกให้รีบทำการแก้ไขหาทางระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด
การปฏิบัติเพื่อช่วยลดการเกิดโรค
ไม่บังคับให้ออกผลนอกฤดูบ่อยเกินไป
การใช้ต้นตอหรือเสริมรากด้วยพันธุ์ทุเรียนที่มีความต้านทานโรครากเน่าโคนเน่า
ไม่ปลูกพืชที่อาจเป็นพืชอาศัยของเชื้อราสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าในสวนทุเรียน เช่น พริกไทย หรือ โกโก้ เป็นต้น
ปรับปรุงคุณสมบัติดินด้านต่างๆ ให้มีความเหมาะสม เช่น
ความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ การเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก เป็นต้น การใส่ปุ๋ยเคมีให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโต
คุณสมบัติทางเคมี เช่น ปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่เหมาะสมโดยมีค่าประมาณ 6.5 ถ้ากรณีดินที่เป็นกรดจัด ให้แก้ไขโดยการใส่ปูนขาว หรือโดโลไมท์ เป็นต้น
คุณสมบัติทางกายภาพ เช่น การระบายน้ำ เป็นต้น
เชื้อ Phytophthora palmivora เป็นเชื้อที่อยู่ในดิน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการเก็บเกี่ยวผลทุเรียนไม่ควรวางผลให้สัมผัสกับดิน โดยปูพื้นดินที่จะวางผลด้วยวัสดุหรือกระสอบที่สะอาดหรือวางบนรถเข็น เพื่อลดโอกาสที่ผลจะสัมผัสกับดินซึ่งมีเชื้อสาเหตุโรค การขนย้ายควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่ผล
ควรระมัดระวังระบบรากของทุเรียน ไม่ให้เกิดบาดแผลหรือความกระทบกระเทือน โดยระบบรากฝอยที่ใช้ในการหาอาหารของทุเรียนจะอยู่บริเวณชั้นผิวดิน งดการเหยียบย่ำโคนต้นช่วงที่ดินชื้นแฉะ หลีกเลี่ยงการใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชใกล้โคนต้น
ลดปริมาณของเชื้อ Phytophthora palmivora ที่อยู่ในดินโดยหว่านเชื้อราไตรโคเดอร์มา บริเวณทรงพุ่มรอบทรงพุ่มเป็นประจำ
ควรทำความสะอาดเครื่องมือตัดแต่งทุกครั้งเมื่อทำการตัดแต่งทุเรียนแต่ละต้น ก่อนนำไปใช้กับต้นใหม่
การมีโปรแกรมพ่นสารป้องกันกำจัดโรคเป็นระยะ โดยสารที่แนะนำ เช่น เช่น metalaxyl (4), fosetyl aluminum (P7), bordeaux mixture, copper oxychloride (คอปเปอร์-ไฮ), dimethomorph (40), pyraclostrobin (11), myclobutanil (3) + kresoxim methyl (11) เป็นต้น โดยควรพ่นสลับกลุ่มสารออกฤทธิ์
โดยแนวทางที่กล่าวมาข้างต้นถ้าเกษตรกรสามารถทำได้และปฏิบัติเป็นประจำก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรครากเน่าโคนเน่าได้อย่างมาก
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
-
โรคเมล็ดด่างในนาข้าว
โรคเมล็ดด่างเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อหลายชนิด ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้า…
-
เทคนิคเช็กโรคใบจุดสีน้ำตาลในช่วงข้าวเล็ก
ในช่วงสภาพอากาศร้อนนี้เกษตรกรอาจสังเกตุพบโรคใบจุดสีน้ำตาลเกิดขึ้นกับข้าวได้ตั้งแ…
-
ฮอร์โมนพืชคืออะไร?
ฮอร์โมนพืชเป็นสารอินทรีย์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการเจริญเติบโตของพืช ทั้งการ…
-
4 โรคควรระวังหากปลูกพืชตระกูลแตง
4 โรคควรระวังหากปลูกพืชตระกูลแตง โรคราแป้งขาวแตงกวา (Powdery mildew) โรคราน้ำค้า…